ประวัติขั้นตอน และพิธีการลอยอังคาร
เครื่องใช้ประกอบพิธี
๑. สำหรับบูชาแม่ย่านางเรือ (เจ้าหน้าที่เรือจัดเตรียมให้กับคณะลอยอังคาร)
- ดอกไม้สด ๑ กำ หรือ พวงมาลัย ๑ พวง
- ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
- พานเล็ก ๑ ใบ (ใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ขณะบูชาแม่ย่านางเรือ)
- เชือกสำหรับผูกมัด ธูป เทียน ดอกไม้ ที่สำหัวเรือ
- เครื่องสังเวย เช่น น้ำ อาหารหวาน/คาว
๒. สำหรับไหว้อังคาร (เจ้าหน้าที่เรือจัดเตรียมให้กับคณะลอยอังคาร**ยกเว้นลุ้นสำหรับใส่อังคาร)
- ลุ้งสำหรับใส่อังคาร (คณะลอยอังคารจัดเตรียมมาเอง)
- พวงมาลัยสำหรับคล้องลุ้ง ๑ พวง
- ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือ ดอกไม้อื่นๆ (สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร)
- น้ำอบไทย ๑ ขวด
- ดอกกุหลาบ จำนวนเท่ากับผู้ร่วมพิธี
- ธูป เทียน เครื่องทองน้อย ๑ ชุด (หรือธูป ๑ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม พร้อมกระถางธูป เชิงเทียน ๑ ชุด
- สายสิญจน์ ๑ ม้วน
- ผ้าขาว (กว้าง x ยาว ½ เมตร) ๑ ผืน (คณะลอยอังคารจัดเตรียมมาเอง)
- พานโตก (ขนาดเล็ก) รองลุ้งอังคาร ๑ ใบ
- พานก้นลึก (ขนาดเล็ก) ใส่ดอกไม้ต่างๆ ๑ ใบ
- พานก้นตื้นสำหรับใส่เหรียญ ๑ ใบ
- ไม้ขีดไฟ/ไฟแช็ค
- เชื้อเพลิงเหลว (ทำพิเศษสำหรับจุดธูป – เทียน)
๓. สำหรับบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร (เจ้าหน้าที่เรือจัดเตรียมให้กับคณะลอยอังคาร)
- กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ กระทง
- ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
- พานโตก (ขนาดกลาง) สำหรับวางกระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ ใบ
ลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ
๑. การบูชาแม่ย่านางเรือ
- เจ้าหน้าที่ที่จัดไว้เชิญคณะญาติมิตรนำอังคารไปสู่ท่าเทียบเรือ
- พิธีกรนำประธานในพิธี (ญาติอาวุโส) ลงเรือก่อน นอกนั้นรอบนท่าเทียบเรือ
- ประธานนำดอกไม้ ธูป – เทียนใส่รวมในพาน บูชาแม่ย่านางเรือ
- กล่าวบูชาและขออนุญาตแม่ย่านางเรือโดยพิธีกรเป็นผู้นำกล่าว
คำกล่าวบูชา/ขออนุญาตแม่ย่านางเรือ
(ตั้งนะโม ๓ จบ)
นะมัตถุ/ นาวานิวาสินิยา/ เทวะตายะ/ อิมินา สักกาเรนะ/ นาวานิวาสินิง/ เทวะตัง/ ปูเชมิ
ข้าพเจ้า/ ขอน้อมไหว้บูชา/ แม่ย่านางเรือ/ ผู้คุ้มครองรักษาเรือลำนี้/ ด้วยเครื่องสักการะนี้
ด้วยข้าพเจ้า/ พร้อมด้วยญาติมิตร/ ขออนุญาตนำอัฐิและอังคาร/ของ ชื่อ สกุล ผู้วายชนม์
ลงเรือลำนี้/ ไปลอยในทะเล/ ขอแม่ย่านางเรือได้โปรดอนุญาต/ ให้นำอัฐิและอังคารลงเรือได้
และได้โปรดคุ้มครองรักษา/ ให้ข้าพเจ้าและญาติมิตร/ กระทำพิธีลอยอัฐิและอังคาร/
ด้วยความสะดวกและปลอดภัย/ด้วยประการทั้งปวงเทอญ
- คณะญาติมิตรนำอังคารลงเรือ
- เรือออกเดินทางไปยังจุดที่จะลอยอังคาร
๒. การไหว้อังคารบนเรือก่อนนำพิธีลงน้ำ
- เมื่อเรือแล่นถึงจุดหมายแล้วเรือจะหยุดลอยลำ
- พิธีกรเปิดลุ้งอังคาร จัดเครื่องไหว้อังคารให้ประธาน
- ประธานจุดธูป – เทียนไหว้อังคาร สรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆ
- เมื่อทุกคนไหว้อังคารเรียบร้อยแล้ว พิธีกรห่อลุ้งอังคารด้วยผ้าขาว กว้าง – ยาว ½ เมตร รวบมัดด้วยสายสิญจน์ทำเป็นจุกข้างบนไว้เพื่อสอดสวมพวงมาลัย
- เจ้าหน้าที่เรือแจกดอกกุหลาบให้คณะญาติมิตร คนละ ๑ ดอก
๓. การบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร
- พิธีกรจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร ให้ประธาน
- ประธานจุดเทียน ๑ เล่ม และ ธูป ๑ ดอก ที่กระทงดอกไม้ ๗ สี
- กล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร โดยพิธีกรเป็นผู้กล่าวนำ
คำกล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคาร
(ตั้งนะโม ๓ จบ)
นะมัตถุ/ อิมิสสัง/ มะหานะทิยา/ อธิวัตถานัง/ สุรักขันตานัง/ สัพพะเทวานัง/ อมินา สักกาเรนะ/ สัพพะเทเว/ ปูเชมะ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ขอน้อมไหว้บูชา/ เจ้าแม่นที/ ท้าวสีทันดร/ และเทพยดาทั้งหลาย/ ผู้สถิตคุ้มครองรักษาอยู่/ในทะเลนี้/ ด้วยเครื่องสักการะนี้/
ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ได้ประกอบกุศลกิจ/ อุทิศส่วนบุญแด่ ชื่อ สกุล ผู้วายชนม์/ และ ณ บัดนี้/ จักได้ประกอบพิธี/ ลอยอัฐิและอังคารของ ชื่อ สกุล ผู้วายชนม์ / พร้อมกับขอฝากไว้/ ในความอภิบาล/
ของเจ้าแม่นที / ท้าวสีทันดร/ เจ้าแห่งทะเล/ และทวยเทพทั้งปวง
ขอเจ้าแม่นที/ ท้าวสีทันดร/ แม่ย่านางเรือ/ และเทพยดาทั้งหลาย/ ได้โปรดอนุโมทนา/ดลบันดาล/ให้ดวงวิญญาณของ/ ชื่อ สกุล ผู้วายชนม์ / จงเข้าถึงสุคติ/ ในสัมปรายภพ/ ประสพสุข/ ในทิพยวิมาน/
ชั่วนิจนิรันดร์กาลเทอญ
๔. วิธีการลอย
- เมื่อกล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร เสร็จแล้ว พิธีกรเชิญทุกคนยืนขึ้น เพื่อไว้อาลัยประมาณ ๑ นาที
- ประธานโยนเงินเหรียญเพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียม จำนวน ๙ เหรียญ หรือตามสมควรลงทะเล จากนั้นให้เจ้าหน้าที่เชิญกระทงดอกไม้ ๗ สี โดยใช้มือประคองค่อยๆวางบนผิวน้ำ ต่อจากนั้นอุ้มประคองห่อลุ้งอังคารค่อยๆ วางบนผิวน้ำ โดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือสายสิญจน์ด้วย
- หากกรณีมีคลื่นลมแรง คณะลอยอังคารไม่สะดวกลงบันไดให้ใช้สายสิญจน์พันรอบลุ้งอังคาร และจะให้เจ้าหน้าที่เรือเป็นผู้หย่อนลุ้งอังคารลงผิวน้ำ (ประณีตบรรจง) ห้ามโยนเด็ดขาด
- เมื่อห่อลุ้งอังคารลงสู่ผิวน้ำแล้ว ให้โรยดอกกุหลาบ ธูป เทียน กลีบดอกไม้ ตามลงไป
เรือวน (เวียน) ซ้าย ๓ รอบ เป็นการยึดถือถือว่าเวียนขวางานมงคล เวียนซ้ายงานอวมงคล
รอบแรก คือ อนิจจัง ให้เห็นความไม่เที่ยง
รอบสอง คือ ทุกขัง ให้เห็นความเป็นทุกข์
รอบสาม คือ อนัตตา ให้เห็นความไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้